ศูนย์ทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียน

พิมพ์

ความเป็นมา :

About AFCM EN pic01 About AFCM EN pic02 About AFCM EN pic03


       ศูนย์ทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียน เป็นกลุ่มงานในสังกัดกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) มีหน้าที่รับผิดชอบให้บริการทดสอบความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหารและวัสดุสัมผัสอาหารตาม กฏระเบียบ และมาตรฐาน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี ในปี 2554 วศ. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้ทำหน้าที่ออกใบรับรองการวิเคราะห์ทดสอบ (Certification of Analysis, COA) ให้กับสินค้าประเภทวัสดุสัมผัสอาหาร เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกของไทย และในปี 2557 ศูนย์ทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียนร่วมกับกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน – กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป (ASEAN Consultative Committee for Standards and Quality – Prepared Food Products Working Group, ACCSQ-PFPWG) ให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัสอาหาร (ASEAN Food Reference Laboratory for Food Contact Materials, AFRL for FCM).


การจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัสอาหาร :

 About AFCM TH pic04    About AFCM TH pic05  

      จากวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการเปลี่ยนการค้าของภูมิภาคอาเซียนให้เป็นตลาดเดียว (Single market) ภายในปี 2558 จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการเปิดการค้าเสรี (ASEAN Free Trade Area, AFTA) รวมทั้งปรับประสานมาตรฐาน กฎระเบียบ ภายในภูมิภาคอาเซียนในด้านต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป อาหารถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่อาเซียนให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งอาจเกิดการปนเปื้อนได้จากหลายสาเหตุ รวมถึงการเคลื่อนย้ายของสารอันตรายบางชนิดจากภาชนะหรือวัสดุที่ใช้สัมผัสกับอาหารได้ ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการ ACCSQ-PFPWG ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2553 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้กรมวิทยาศาสตร์บริการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัสอาหาร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 โดยบรรจุไว้ใน AEC scorecard รวมถึงให้ประเทศไทยทำการสำรวจมาตรฐานและกฎระเบียบด้านวัสดุสัมผัสอาหารในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ต่อมาคณะผู้เชี่ยวชาญจาก 3 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ เวียดนาม ได้เข้าตรวจเยี่ยม (On – site visit) กรมวิทยาศาสตร์บริการ ระหว่างวันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2557 เพื่อดูความพร้อมการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัสอาหาร และที่ประชุม ACCSQ – PFPWG ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 3 – 4 กันยายน 2557 ณ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ได้มีมติรับรองให้ กรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัสอาหาร มีวาระการทำงาน 5 ปี ในขอบข่ายของวัสดุ 5 ประเภทได้แก่ พลาสติก เซรามิก แก้ว โลหะและโลหะอัลลอยด์ และสารเคลือบและวานิช ภายหลังได้รับการรับรองเพิ่มเติมในขอบข่ายวัสดุสัมผัสอาหารประเภทซิลิโคน โดยมติที่ประชุม ACCSQ – PFPWG ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

 
หน้าที่และภารกิจสำคัญการเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน :

ห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียนมีหน้าที่และภารกิจให้การสนับสนุนด้านเทคนิคการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับอาหารให้แก่เครือข่ายห้องปฏิบัติการของประเทศสมาชิกอาเซียนในขอบข่ายที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ :

About AFCM EN pic06

  1. แนะนำวิธีทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารใหม่ ๆ ให้กับห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารภายในประเทศสมาชิกอาเซียน (National Food Reference Laboratories, NFRLs)

  2. จัดกิจกรรมทดสอบความชํานาญ/เปรียบเทียบผลทดสอบ ระหว่างห้องปฏิบัติการประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนด้านวัสดุสัมผัสอาหาร

  3. จัดการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารให้แก่ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน

  4. เป็นแหล่งข้อมูลด้านการทดสอบและวิธีวิเคราะห์ด้านวัสดุสัมผัสอาหาร

  5. เป็นแหล่งข้อมูลวัสดุอางอิง/วัสดุอ้างอิงรับรอง.

  6. เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงที่ใช้ตัดสินในกรณีที่เกิดข้อพิพาทอันเนื่องมาจากผลการทดสอบและเกิดการโต้แย้งทางการค้าของประเทศในอาเซียน